3 ตุลาคม 2565
ระยะเวลาการอ่าน : 5 นาที
ในการตัดสินใจทำหมันให้น้องหมา พ่อแม่น้อง ๆ หลายท่านอาจเกิดคำถามเช่น
“ถ้าทำแล้ว น้องจะร่าเริงเหมือนเดิมไหมคะ”
“เลี้ยงน้องในบ้าน ไม่ได้เจอหมาตัวอื่น ๆ จำเป็นต้องทำหมันไหมคะ”
“ช่วงอายุเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสมกับการทำหมันครับ”
หลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำหมันน้องหมาที่วันนี้หมอนีทจะมาแบ่งปันข้อมูลเรื่องทำหมันเพื่อให้เพื่อน ๆ ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

จากงานวิจัยของต่างประเทศพบว่าเจ้าของน้องหมาสนับสนุนให้มีการทำหมันน้อง ๆ มากกว่า 80 % จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับคุณหมอส่วนใหญ่ที่แนะนำให้น้องหมาทำหมันในกรณีที่ไม่ต้องการให้ผสมพันธุ์ โดย ข้อดีของการทำหมัน ได้แก่
- ช่วยควบคุมประชากรให้เหมาะสม และลดการเกิดหมาจร
- ลดพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น ขับถ่ายไม่เป็นที่ การออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน
- ป้องกันปัญหาสุขภาพ ทั้งในน้องหมาตัวผู้ และตัวเมีย เช่น ต่อมลูกหมากโต มะเร็งเต้านม มดลูกอักเสบติดเชื้อ เป็นต้น ซึ่งปัญหาสุขภาพดังกล่าวมีโอกาสเกิดได้กับน้องหมาทุกตัว และมีความเสี่ยงสูงมากขึ้นในน้องหมาที่ไม่ได้ทำหมัน ดังนั้นถึงน้องหมาจะถูกเลี้ยงดูในบ้าน ไม่เคยได้รับการผสม แต่ก็สามารถเกิดปัญหาสุขภาพดังกล่าวนี้ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามการทำหมันจะมีข้อควรระวังในบางเรื่อง ได้แก่ ได้แก่
1. ทำให้น้องหมาอ้วนขึ้น หรือน้ำหนักตัวเกินกำหนดได้ง่าย แต่เพื่อน ๆ ไม่ต้องกังวลไปว่าน้องหมาที่ทำหมันทุกตัวจะมีภาวะน้ำหนักเกิน เพราะ การทำหมันน้องหมาส่งผลต่อสมดุลฮอร์โมน leptin และ insulin ซึ่ง leptin เป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อความหิวและความอยากอาหาร ส่วน insulin เป็นฮอร์โมนที่ช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือด สมดุลฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ทำให้การเผาผลาญของน้องหมาลดลง ในขณะเดียวกันที่ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ดังนั้นนี่เป็นอีกความเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้น้องหมาอ้วนหลังทำหมันได้ ซึ่งความเสี่ยงที่น้ำหนักเกินหลังทำหมันจะสูงสุดในช่วง 2 ปี หลังทำหมัน อ้างอิงจาก Journal of the American Veterinary Medical Association น้องหมาหลังทำหมันควรคุมพลังงานอาหาร และเพิ่มการออกกำลังกายให้มากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาน้ำหนักเกิน
2. การทำหมันไวเกินไปจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและข้อต่อได้ หรือมีความเสี่ยงในเรื่องการควบคุมปัสสาวะ แต่กลไกยังไม่ทราบแน่ชัด โดยปกติทั่วไปจะแนะนำให้น้องหมาทำหมันตอนอายุ 1 ปีขึ้นไป แต่การพิจารณาการทำหมันก็ขึ้นกับพันธุ์ สุขภาพในตอนนั้น รวมถึงการได้รับวัคซีนด้วยว่าครบหรือไม่

แนวทางการรับมือกับน้ำหนักน้องหมาหลังทำหมัน
1. อาหาร
- ลดอาหารลง 20-25 % จากปกติ
- ให้เป็นมื้อเล็ก แต่ถี่ ๆ เพื่อดูว่าน้องหมากินมากน้อยแค่ไหน การตั้งอาหารทิ้งไว้ตลอดเสี่ยงทำให้น้องหมาอ้วนได้
- ไม่ควรให้อาหารของคน โดยเฉพาะอาหารที่มีการปรุงรสหรือทอด
- ให้ขนมไม่ควรเกิน 10 % ของแคลอรี่ที่ควรได้รับต่อวัน หรือตามปริมาณที่แนะนำด้านหลังซอง ทางที่ดีควรให้ในปริมาณน้อย ๆ
2. ออกกำลังกาย
- กระตุ้นให้น้องหมาอยากออกกำลังกาย เช่น พาเดินให้นานขึ้น ออกไปเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ หรือ มีการเล่นเกมร่วมกัน เป็นต้น

3. สังเกตน้ำหนักสม่ำเสมอ
- เช็คจาก Body condition score (BCS) ตามบทความ น้องหมาเราอ้วนหรือยังนะ หรือชั่งน้ำหนักที่เครื่องชั่ง
หวังว่าบทความในครั้งนี้จะมีประโยชน์กับเพื่อน ๆ ในการวางแผนพาน้อง ๆ ไปทำหมัน รวมถึงการดูแลน้อง ๆ ให้มีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง และอยู่กับเราไปนาน ๆ นะคะ
ที่มา
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0167587719300868
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6523704/
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6070019/
https://www.readvpn.com/Topic/Info/9459671b-5b79-4709-8c42-31791fe7f13e
https://knutsfordvetsurgery.co.uk/dog-neutering/
https://dogdiscoveries.com/uncategorized/does-spaying-make-dogs-fat
เขียนโดย
คุณหมอนีท ผู้รักสัตว์แทบทุกชนิดบนโลก ชื่นชอบอาหาร และหลงใหลในธรรมชาติ